สรุปบทเรียน เรือนจำนราธิวาส
จากการรายงานพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 2 เมษายน 2564 โดยเป็นผู้ต้องขังจำนวน 239 ราย เจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 32 ราย และมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ และป้องกันมิให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุด
ความท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส คือ การที่ไม่อาจทราบได้ว่าภายในเรือนจำมีการระบาดของโรคมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีใครติดเชื้อแล้วบ้าง โดยในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสมีผู้ต้องขัง 2,411 คน ทั้งหมดนี้ถือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นพื้นที่ปกติภายนอกเรือนจำบุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด (Local Quarantine) เพื่อสังเกตอาการและตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการในเรือนจำ เช่น อาคารเรือนนอนที่จำกัด ข้อจำกัดของทรัพยากรบุคคลทั้งจากสาธารณสุขและกรมราชทัณฑ์ ความไม่ปลอดภัย และข้อจำกัดทางกฎหมายหากต้องจัดพื้นที่กักตัวผู้ต้องขังนอกเขตทัณฑสถาน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังทางความคิดในการการจัดการอย่างมาก ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อนเพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาด แต่ในข้อจำกัดก็ยังมีข้อได้เปรียบในสถานการณ์นี้อยู่ด้วย คือ ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีร่างกายแข็งแรงถือว่าน่าจะมีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งจากหลักฐานทางวิชาการพบว่าโรคโควิด-19 มักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีสภาพแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามการเข้าไปควบคุมและการจัดการเพื่อลดอัตราป่วยและตาย ลดการแพร่กระจายออกไปทั้งในและนอกเรือนจำเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดการให้ได้อย่างรวดเร็วภายใต้มาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด