การพัฒนาแนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤตแบบครอบคลุมโดยใช้เครื่องมือ I SITDOWN ICU

การพัฒนาแนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤตแบบครอบคลุมโดยใช้เครื่องมือ I SITDOWN ICU

บทคัดย่อ

หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม (MICU) เกิดอุบัติการณ์ที่สามารถป้องกันได้ เช่น ท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุด พบว่าในปี 2562 – 2564 เกิดอุบัติการณ์ 8.2, 4.8, และ 3.13 ต่อ 1,000 วันนอน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วย รวมถึงการปรับการตั้งค่าของเครื่องช่วยหายใจไม่ตรงกับคำสั่งการรักษาของแพทย์ หรือผู้ป่วยไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ จึงมีการพัฒนาแนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤตแบบครอบคลุมโดยใช้ I SITDOWN ICU ประกอบด้วย I : Identify การระบุตัวถูกคน S : Side rail การยกไม้กั้นเตียง I : IV การดูแลสารน้ำ T : Tube & line ท่อช่วยหายใจและสายระบาย D : Bed down ระดับเตียง O : Oxygen ออกซิเจน W : West ของเสีย N : Needs ความต้องการ I : Infections control การป้องกันการติดเชื้อ C : Complication ภาวะแทรกซ้อน U : Uncomfortable ความสุขสบาย เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยในระบบต่าง ๆ อย่างครอบคลุม สะดวก รวดเร็วในการปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม ไม่เกิดอุบัติการณ์หรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ วัสดุ 1. แผ่นป้ายขนาด 10 x 20 ซม. จำนวน 8 แผ่น แปะในชาร์ตทุกชาร์ต วิธีการ 1) ประชุมและทบทวนกระบวนการพยาบาลผู้ป่วยเพื่อค้นหาปัญหาในการดูแลผู้ป่วย2) สืบค้นข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการประเมินผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม3) ศึกษาและจัดทำโครงร่างแนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤต4) ประชุมชี้แจงรายละเอียดของเครื่องมือ I SITDOWN ICU5) นำเครื่องมือ I SITDOWN ICU ไปใช้กับผู้ป่วย MICU จำนวน 30 ราย ในเดือน เมษายน 2565 6) ประเมินผลการดำเนินงาน ผลการศึกษา  1) พยาบาลปฏิบัติตามแนวทางโดยใช้ I SITDOWN ICU ร้อยละ 89.4 2) ผู้ป่วยวิกฤตมีความปลอดภัยไม่เกิดอุบัติการณ์ที่สามารถป้องกัน 3) พยาบาลมีความพึงพอใจจากการใช้แนวทางการ I SITDOWN ICU ในระดับมากที่สุด (= 4.89) สรุปและข้อเสนอแนะ : หลังการดำเนินการโดยใช้แนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤตแบบครอบคลุมโดยใช้ I SITDOWN ICU พบว่าผู้ป่วยไม่เกิดการระบุตัวผิดพลาด (Identify) ไม่เกิดการพลัดตกเตียง ผู้ป่วยได้รับสารน้ำและยาครบถ้วน ไม่เกิดท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุด มีการตั้งค่าเครื่องช่วยหายใจตรงตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ ได้รับการเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ เมื่อครบ 14 วัน และสายสวนไม่หักพับงอหรือดึงรั้ง มีการสอบถามความต้องการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อย ได้รับการพลิกตะแคงตัว จัดท่านอนที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ แผลกดทับ ข้อติดแข็ง ผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย จะเห็นว่าการใช้รูปแบบของ I SITDOWN Model ที่มีการพัฒนาสู่ I SITDOWN ICU จะช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุม มีความปลอดภัย ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ควรมีการใช้ I SITDOWN ICU ในการประเมินผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และควรมีการเผยแพร่ไปยังตึกที่มีผู้ป่วยในลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ : แนวทางการประเมินผู้ป่วยวิกฤต, แบบครอบคลุม, เครื่องมือ I SITDOWN ICU

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *