b22 - 72 (2)

ประวัติการปกครอง

นราธิวาสเดิมชื่อ “มะนาลอ” เป็นหมู่บ้านขึ้นอยู่กับเมืองสายบุรี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโอนไปขึ้นอยู่กับเมืองระแงะ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในการปกครอง 7 หัวเมือง โดยมีประวัติศาสตร์ของจังหวัดนราธิวาส ดังนี้  

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325-2353) ได้แบ่งเขตการปกครองบริเวณชายแดนภาคใต้ ออกเป็น 7 หัวเมือง คือ เมืองปัตตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองสายบุรี และเมืองยะหริ่ง โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง ในปี พ.ศ.2444  (ร.ศ.120)      รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล และให้หัวเมืองทั้ง 7 หัวเมือง อยู่ในความปกครองของเทศาภิบาล  เมื่อปี  2449 (ร.ศ. 125) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ  ให้ยุบหัวเมืองทั้ง 7 เหลือแค่เพียง 4 หัวเมือง และให้ขึ้น อยู่กับมณฑลปัตตานี คือ
เมืองปัตตานี, เมืองยะลา, เมืองสายบุรีและเมืองระแงะ

สำหรับหัวเมืองประเทศราช 4 เมือง ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เคดาห์) และ เปอร์ลิศ  อังกฤษเข้ายึดครอง ในปี พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) หมู่บ้านมะนาลอ ซึ่งขึ้นกับเมืองระแงะ  มีความเจริญและเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากกว่าตัวเมืองระแงะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จ พระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรภาคใต้ เมื่อ พ.ศ. 2458 และทรงมีพระราชดำริให้ย้ายศาลาว่าการเมืองระแงะ มาตั้งอยู่บ้านมะนาลอ และได้พระราชทานชื่อเมืองว่า “เมืองนราธิวาส” คำว่า “นราธิวาส” มาจากคำสนธิ ระหว่าง “ นร + อธิวาส” ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของคนดี ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วย ระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม “เมืองนราธิวาส” จึงได้รับการจัดตั้งเป็น “จังหวัดนราธิวาส” มาจนถึงปัจจุบัน

สภาพภูมิศาสตร์

   จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดชายแดน ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลด้านตะวันออกของแหลมมลายู ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์1,149 กิโลเมตรและทางรถไฟ1,116 กิโลเมตร
ทิศเหนือ              จดจังหวัดปัตตานี และอ่าวไทย
ทิศตะวันออก       จดประเทศมาเลเซีย
ทิศใต้                  จดอ่าวไทย และประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันตก          จดจังหวัดยะลา

ภูมิประเทศ

พื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสเป็นป่าและภูเขาประมาณ 2/3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีภูเขาหนาแน่นแถบทิศตะวันตกเฉียงใต้จดเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย ลักษณะของพื้นที่ มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดกับอ่าวไทยและเป็นที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำตากใบ และปลายแม่น้ำโก-ลก มีพื้นที่เป็นพรุ จำนวนประมาณ361,860 ไร่

ภูมิอากาศ

ลักษณะอากาศเป็นแบบมรสุมเขตร้อน แบ่งฤดูกาลออกเป็น 2 ฤดู ได้แก่
(1) ฤดูฝน แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดียเข้ามา ทำให้มีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม อีกช่วงหนึ่ง คือช่วงที่รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดเอาความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา ทำให้มีฝนตกชุกในเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม
(2) ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน เนื่องจากได้รับลมตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ ทำให้อากาศโดยทั่วไปร้อนและชื้น

พื้นที่ ประชากร ศาสนาและภาษา

จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ทั้งหมด  4,475.43 ตารางกิโลเมตร  มีประชากรจากการสำรวจของที่ทำการปกครองจังหวัดนราธิวาส  ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554  จำนวน 729,936 คน จำแนกเป็นเพศชาย 360,768  คน  เพศหญิง 369,168  คน

               ประชากรจังหวัดนราธิวาส นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 83 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 16.54  นับถือศาสนาคริสต์และอื่นๆ ร้อยละ 0.55  มีมัสยิด 626 แห่ง วัด 71 แห่ง สำนักสงฆ์ 21 แห่ง และโบสถ์คริสต์ 4 แห่ง ประชากรใช้ภาษาพูดหลากหลาย เพราะมีหลายกลุ่มมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดนราธิวาส ที่มาจากภาคกลางก็จะใช้ภาษาไทยมาตรฐาน หากมาจากจังหวัดอื่น ๆในภาคใต้ จะมีสำเนียงพูดหลายสำเนียง เช่น สำเนียงภาษาไทยใต้ตอนบน ภาษาไทยใต้ตอนล่าง และยังมีภาษาพูดและสำเนียงที่แปลกไปจากภาษาไทยภาคใต้ในจังหวัดอื่นๆมากเป็นพิเศษคือ สำเนียงภาษาเจ๊ะเห มีพูดกันมานานและมีอยู่ในกลุ่มคนไทยพุทธดั้งเดิมของจังหวัดนราธิวาสเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของอำเภอตากใบ สำหรับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจะใช้ภาษาซึ่งเรียกว่า “ภาษามลายูถิ่น” หรือเรียกว่า “ภาษายาวี” ในชีวิตประจำวันคล้ายคลึงกับภาษามลายู ในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน

สัญลักษณ์จังหวัด

        รูปเรือใบแล่นกางใบ หมายถึง ที่ตั้งอยู่ริมทะเล มีการค้าขาย การประมง และการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในเรือมีรูปช้างเผือกประดับเครื่องคชาภรณ์อยู่ในวงกลม หมายถึง ช้างสำคัญ คู่บุญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อว่า “พระศรีนรารัฐราชกิริณี”